About Us

Background - เหตุผลและความสำคัญ

ผ้าทอพื้นเมืองของไทยในปัจจุบันนี้มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานและยังคงรูปแบบ ลวดลาย และเทคนิคในการทออันประณีตไว้ได้อย่างเป็นเอกลักษณ์ ผ้าทอมือและการทอผ้าด้วยมือเป็นรากฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิตในขั้นพื้นฐานของชาวชนบท นับว่าเป็นอาชีพสำคัญอาชีพหนึ่งของประเทศรองลงมาจากอาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลัก ผ้าทอพื้นเมืองของไทยมีวิวัฒนาการมาช้านานและยังคงรักษารูปแบบ ลวดลาย ตลอดจนกรรมวิธีการทออันประณีตแบบโบราณไว้ได้ ได้มีการค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับผ้าที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือการค้นพบชิ้นส่วนของผ้าที่บ้านเชียง จะเห็นได้ว่าผ้าทอพื้นเมืองนั้นเป็นอีกหนึ่งในวิถีของวัฒนธรรมของชาวไทยทั้งในด้านของประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ด้านประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ของชาติพันธ์ และวัฒนธรรมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิถีชีวิตของผู้หญิงไทยกับการทอผ้า เนื่องจากการทอผ้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดั้งเดิมของมนุษย์กลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องลึกซึ้งกับวิถีชีวิตและบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในสังคม ผ้าเป็นความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ มีความสำคัญในวิถีชีวิตของชาวบ้านทุกท้องถิ่น มนุษย์รู้จักการทอผ้ามาเป็นระยะเวลาพันปี ผ้าทอมีบทบาทมากในชีวิตประจำวันของชาวบ้านตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการใช้สอย และพิธีกรรมความเชื่อทั้งที่เป็นงานมงคลและอวมงคล ชนชาวไทยแต่ละกลุ่มต่างมีสิ่งทอที่งดงาม มีเอกลักษณ์ในการคิดค้นรูปแบบและลวดลายที่แตกต่างกันออกไป ลักษณะพิเศษเหล่านี้เกิดจากพื้นฐานคติความเชื่อดั้งเดิม และสภาพแวดล้อมของแต่ละกลุ่มชนงานสิ่งทอของไทยจึงนับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีบทบาทสำคัญหลายประการและเป็นสิ่งบ่งชี้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคนในชาติ และยังแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสติปัญญา การค้น การคิดการประดิษฐ์ การแก้ไขปรับปรุงให้มีความเหมาะเจาะลงตัวอันเป็นส่วนสำคัญของคำว่า วัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดค่านิยมของคนรุ่นหนึ่งเอาไว้ให้รุ่นต่อมาได้ศึกษา งานทอผ้าของชาวไทยจึงมีเสน่ห์ควรค่าแก่การสนใจยิ่ง ลวดลายสีสันที่ปรากฏอยู่บนผ้าทอแต่ละผืนนับได้ว่าเป็นงานศิลปะที่มีความประณีตละเอียดอ่อน เป็นปรีชาญาณที่เปี่ยมไปด้วยวิญาณแห่งบรรพชน เป็นมรดกอันล้ำค่าที่พวกเราสมควรจะภาคภูมิใจและสืบสายความรู้เชื่อมโยงไปสู่อนาคตเพื่อให้คงอยู่ตลอดไป

จังหวัดอุดรธานีนับได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีวิถีวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและโบราณวัตถุที่มีชื่อเสียงเป็นมรดกโลก นอกจากนั้นจังหวัดอุดรธานียังเป็นอีกจังหวัดที่มีการทอผ้ามาตั้งแต่ครั้งอดีตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทอผ้าไหม จนสามารถกล่าวได้ว่าอาชีพการทอผ้าไม่เป็นเพียงแค่อาชีพเสริมของชาวบ้านเท่านั้นแต่ยังถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุดรธานี ดังจะเห็นได้จากคำขวัญประจำจังหวัดที่ได้ยกเอาเอกลักษณ์ด้านการทอผ้าที่โดดเด่นมายกย่องย่องที่ปรากฏในคำขวัญประจำจังหวัดว่า “หนองประจักษ์คู่เมือง  ลือเลื่องแหล่งธรรมะ อารยธรรมบ้านเชียงมรดกโลกห้าพันปี ธานีผ้าหมี่ขิด ธรรมชาติเนรมิตทะเลบัวแดง” จากประโยคที่กล่าวว่า “ธานีผ้าหมี่ขิด” หมายถึง ผ้าไหมทอแบบขิดของจังหวัดอุดรธานีซึ่งเป็นผ้าทอที่มีชื่อเสียงและเป็นเอกลักษณ์และจังหวัดอุดรธานีได้ทอผ้าหมี่ขิดฝ้ายยาวที่สุดในโลกมีความยาว1,199 เมตร มีลวดลายผ้าหมี่ขิดจำนวน 660 ลาย ดังนั้นจังหวัดอุดรธานีจึงเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านการทอผ้าลายขิดฝ้ายและไหม จากการประกวดผ้าลายขิดที่ตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ผ้าลายขิดฝ้ายและไหมของจังหวัดอุดรธานีชนะเลิศติดต่อกันมาเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่เริ่มมีการประกวดจนถึงปัจจุบัน

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านในอนุลุ่มแม่น้ำโขงอย่าง สปป.ลาว ซึ่งมีชาติพันธุ์ร่วมกันทางประวัติศาสตร์ร่วมกับชาวอีสานในปัจจุบัน มีการทอผ้ากันอย่างแพร่หลายเป็นรากทางวัฒนธรรมซึ่งผู้หญิงอีสานมีหน้าที่ติดตัวมาคือการต่ำหูกหรือการทอผ้า เด็กหญิงเมื่อเริ่มรู้จักหน้าที่อายุ 6-7 ขวบจะเรียนรู้การทอผ้าจากแม่และผู้เฒ่าผู้แก่เป็นการสอนตัวต่อตัว ปากต่อปาก มือต่อมือ หูกต่อหูก โดยไม่มีเอกสารตำราให้ศึกษาเล่าเรียน แต่เป็นการถ่ายทอดไม่เฉพาะแต่การทอผ้าเท่านั้นแต่ยังสอดแทรกนิทาน ภาษิตสอนใจ คติความเชื่อต่างๆ ที่ปรากฏในลวดลายผ้าทอได้ถูกกล่อมเกลาปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเล็กยังน้อยรวมถึงจารีตประเพณีในการแต่งกายนุ่งถือผ้าประเภทต่างๆ จะถูกสั่งสมบ่มเพาะและสืบทอดสั่งสอนกันจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมากลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของครอบครัวมายาวนาน

ด้วยพระบรมราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏให้เป็นที่พึ่งของชุมชนท้องถิ่น ได้สะท้อนให้ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งปวงได้ตระหนักถึงพันธกิจต่อชุมชนท้องถิ่นเป็นสำคัญโดยเฉพาะในด้านการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้มั่นคงยั่งยืน เพื่อให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นที่พึงและขุมปัญญาเพื่อนำพาให้ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาอย่างมั่นคงยั่งยืน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีมีพื้นที่บริการ 5 จังหวัดประกอบด้วยจังหวัดอุดรธานี จังหวัดเลย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดหนองคายและจังหวัดบึงกาฬ บทบาทและหน้าที่ของการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีจึงให้ความสำคัญกับพันธกิจในการจัดการศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเพื่อตอบสนองการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง

ดั้งนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนแนวนโยบายตามพระบรมราโชบายและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนากลุ่มจังหวัดอีสานตอนบนในการยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองให้เป็นอาชีพโดยบูรณาการภูมิปัญญาดั้งเดิมของการทอผ้าพื้นเมืองมาประยุกต์กับองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าผ้าทอพื้นเมืองให้มีศักยภาพในการช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้ลงไปสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ :  FTCDC (Fabric and Textile Creative Design Center) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เพื่อการศึกษารวบรวมวัฒนธรรมภูมิปัญญาและองค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมืองในจังหวัดอุดรธานีและพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน – สปป.ลาว การพัฒนากระบวนการผลิต เส้นใยและสีธรรมชาติ ยกระดับและสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองของชุมชนถิ่นอย่างยั่งยืน การสร้างพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองอีสานและแหล่งเรียนรู้ เพื่ออนุรักษ์และการเผยแพร่วัฒนธรรม ภูมิปัญญา องค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมืองเนื่องจากจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองประกอบกับเป็นหมุดหมายที่สำคัญของการเป็นเมือง “ธานีผ้าหมี่ขิด”และยังเป็นแหล่งเรียนรู้แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้านการทอผ้าพื้นเมืองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงศึกษาวิจัยนวัตกรรมเส้นใยและสีย้อมจากธรรมชาติ การเผยแพร่องค์ความรู้วัฒนธรรมภูมิปัญญาและองค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมืองอีกด้วย

Mission - วัตถุประสงค์

  1. ศึกษารวบรวมวัฒนธรรมภูมิปัญญาและองค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมืองในจังหวัดอุดรธานีและพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน – สปป.ลาว
  2. พัฒนากระบวนการผลิต เส้นใยและสีย้อมธรรมชาติ ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองของชุมชนถิ่นอย่างยั่งยืน
  3. สร้างพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองอีสาน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ การอนุรักษ์และการเผยแพร่วัฒนธรรม ภูมิปัญญา องค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมืองให้แพร่หลาย
  4. ศึกษาวิจัยถ่ายทอดองค์ความรู้ดั้งเดิม การประยุกต์นวัตกรรมในการพัฒนาผ้าและสิ่งทอส฿ชุมชน เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และชุมชนทอผ้าพื้นเมืองสู่มาตรฐาน
  5. เผยแพร่องค์ความรู้วัฒนธรรมภูมิปัญญาและองค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมือง

ผลผลิต (Output) ที่คาดจะได้รับ

  1. ได้องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมืองในจังหวัดอุดรธานีและพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน – สปป.ลาว
  2. ชุมชนที่ผลิตผ้าทอพื้นเมืองในท้องถิ่นได้รับการส่งเสริมพัฒนากระบวนการผลิต เส้นใยและสีธรรมชาติ ยกระดับและสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองของชุมชนถิ่นอย่างยั่งยืน
  3. มีพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมภูมิปัญญาและองค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมืองอีสานเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำหรับเยาวชน นักวิชาการ หน่วยงานองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
  4. เสริมสร้างและสนับสนุนการเผยแพร่องค์ความรู้วัฒนธรรมภูมิปัญญาและองค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมือง การสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างชุมชน ปราชญ์ นักวิชาการ ผู้สนใจด้านผ้าทอทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
  5. มีศูนย์ทดสอบและรับรองมาตรฐานเส้นใยและผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองที่มีมาตรฐานสำหรับบริการกลุ่มชุมชน ผู้ประกอบการผลิตผ้าทอพื้นเมือง
  6. มีระบบสารสนเทศองค์ความรู้และฐานข้อมูลผ้าทอพื้นเมือง สนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการสำหรับหน่วยงานองค์กรรัฐ เอกชน และเป็นส่วนสนับสนุนการสืบค้น และช่องทางจำหน่ายสำหรับกลุ่มทอผ้า

ผลลัพธ์ (Outcome) ที่คาดจะได้รับ

  1. ประโยชน์จากงานวิจัยองค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมือง จัดทำเป็นหนังสือ และบทความตีพิมพ์เผยแพร่ นำมาสู่การจัดระบบสารสนเทศองค์ความรู้และฐานข้อมูลผ้าทอพื้นเมือง เพื่อเป็นช่องทางในการเป็นฐานข้อมูลการศึกษาสำหรับนักวิชาการ ผู้สนใจ
  2. ประโยชน์จากนวัตกรรมการออกแบบ เส้นใยและสีย้อมธรรมชาติ นำไปจัดทำเป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังกลุ่มชุมชน ผู้ประกอบการผ้าทอ
  3. ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมภูมิปัญญาและองค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมืองอีสาน เป็นถานที่จัดแสดงเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องผ้าทอพื้นเมืองในทุกมิติ โดยการจัดนิทรรศการแสดงทั้งนิทรรศการระยะยาวและนิทรรศการหมุนเวียน
  4. ประโยชน์จากศูนย์ทดสอบและรับรองมาตรฐานเส้นใยและผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง พัฒนาเป็นศูนย์ทดสอบและให้การรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่ได้มาตรฐาน มผช. รวมถึงการใช้คำปรึกษาด้านวัสดุเส้นใย การย้อมสีจากธรรมชาติแก่ชุมชนท้องถิ่น
Meet our Teams

บุคลากร

t01
t07
t02
t03
t04
t05
t06
t08